นโยบายและแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม

บริษัทดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการของธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่า เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่าจะบริษัท ได้มีส่วนในการช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และรักษาสมดุลระหว่างการดำเนินธุรกิจและสิ่งแวดล้อมให้ควบคู่กันได้

โดยได้ตั้งเป้าหมายสิ่งแวดล้อมของบริษัทให้สอดกับเป้าหมายของประเทศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% ในปี 2030 Carbon Neutrality ในปี 2050 และ Net Zero ในปี 2065

โครงการ Grow Green

บริษัทได้กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม หรือ Grow Green ของบริษัท ซึ่งกำหนดปณิธานไว้ว่า

“เพราะเราเชื่อว่าการกระทำของทุกคนส่งผลต่อโลกใบนี้ ASW จะมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ชีวิตและโลกดีขึ้นไปพร้อมๆ กัน”
Green Space: การให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวในโครงการ
Energy Efficiency: ออกแบบการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ
Waste Management: การบริหารจัดการของเสียอย่างยั่งยืน
Clean Air: ใส่ใจเรื่องการมีอากาศที่สะอาด
Water Management: ใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

การจัดการพลังงานภายในโครงการก่อสร้างของกลุ่มบริษัท

การจัดการพลังงานภายในโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ

1. การติดตั้งระบบไฟฟ้า

การติดตั้งระบบไฟฟ้าภายในโครงการในระบบไฟฟ้าปกติ เพื่อสำหรับจ่ายไฟฟ้าให้กับห้องชุดและพื้นที่ส่วนกลางของโครงการ และการติดตั้งระบบไฟฟ้าส่องสว่างจะใช้หลอด Light Emitting Diode (LED) เพื่อประหยัดไฟฟ้าภายในโครงการ ทั้งนี้ได้จัดให้มีการตรวจสอบการทำงานของระบบไฟฟ้า และซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในโครงการทุกเดือน และรีบดำเนินการแก้ไขหากพบการชำรุด

2. การอนุรักษ์พลังงาน

การอนุรักษ์พลังงานภายในโครงการ ซึ่งบริษัทได้ออกแบบอาคารให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของโครงการ และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบเพื่ออนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2563 และเป็นไปตามประกาศกระทรวงพลังงาน- เรื่องกำหนดมาตรฐานการออกแบบเพื่ออนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2564 ดังนี้

  1. การถ่ายเทความร้อนของผนังด้านนอกของอาคาร (Overall Transfer Value : OTTV) โดยต้องเป็นไปตามเกณฑ์การพิจารณาการใช้พลังงานโดยรวมของอาคารตาม กฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของโครงการ และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบเพื่ออนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2563
  2. การถ่ายเทความร้อนรวมของหลังคาอาคาร (Roof Thermal Transfer Value : RTTV) จากการคำนวนค่าการถ่ายเทความร้อนรวมของหลังคาอาคาร (RTTV)
  3. การใช้ไฟฟ้าส่องสว่างภายในอาคาร ของพื้นที่ใช้งานต่ออาคาร
  4. ค่าพลังงานรวม โดยพิจารณาจากการออกแบบอาคารใช้พลังงานโดยรวมของอาคาร มีค่าพลังงานรวมของแต่ละอาคารต่ำกว่าค่าใช้พลังงานโดยรวมของอาคารอ้างอิง
ทั้งนี้ โครงการได้กำหนดให้มีมาตรการอนุรักษ์พลังงานภายในโครงการ โดยแยกออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้
  1. การออกแบบโครงการให้สอดคล้องกฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของโครงการ และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบเพื่ออนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2563 โดยดำเนินการตามตามประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่องกำหนดมาตรฐานการออกแบบเพื่ออนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2564
  2. การออกแบบโครงการ โดยคำนึงถึงการประหยัดพลังงาน เช่น

    - กำหนดตำแหน่งหลอดติดตั้งไฟให้เหมาะสม โดยไม่ให้มีจำนวนที่มากเกินความจำเป็น แต่ไม่ให้น้อยจนมีแสงสว่างไม่เพียงพอ

    - ติดตั้งหลอดไฟประหยัดพลังงาน Light Emitting Diode (LED) เพื่อประหยัดพลังงานและลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้พักอาศัย

    - ตั้งเวลาให้ประตูลิฟท์ปิดเองในช่วงเวลาอย่างน้อย 10 วินาที จะช่วยลดความจำเป็นในการใช้พลังงานไฟฟ้าของการขับเคลื่อนมอเตอร์เปิด-ปิดประตู

  3. ประชาสัมพันธ์ให้ผู้พักอาศัยภายในโครงการล้างเครื่องปรับอากาศเป็นประจำสม่ำเสมอ พร้อมระบุเบอร์ช่างซ่อม / ล้างเครื่องปรับอากาศ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้พักอาศัยภายในโครงการ
  4. ประชาสัมพันธ์ให้ผู้พักอาศัยภายในโครงการตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสม ประมาณ 25 – 26 องศาเซลเซียล
  5. จัดเจ้าหน้าที่ให้ทำความสะอาดไฟและโคมไฟอยู่เสมออย่างน้อยทุก 6 เดือน

บริษัทจัดทำคู่มือการอนุรักษ์พลังงานไฟฟ้า แจกสำหรับห้องชุดพักอาศัยทุกห้อง เพื่อรณรงค์ให้ผู้พักอาศัยปฏิบัติตามมาตรการอนุรักษ์พลังงาน และติดป้ายประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ปฏิบัติตามคู่มือการอนุรักษ์พลังงาน

นอกจากนี้ ได้จัดให้มีการตรวจสอบถึงเครื่องหมายแสดงประสิทธิภาพการประหยัดพลังงาน และอายุการใช้งานของระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศส่วนกลาง และเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ ในทุกเดือน

3. ติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา (Solar Rooftop) ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด

บริษัทได้ให้ความสำคัญได้ให้ความสำคัญต่อการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยได้ดำเนินการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในโครงการต่างๆ ของบริษัท ดังนี้

  • - โครงการมิงเกิ้ล มอลล์ เคฟ ทียู (Mingle Mall ) ติดตั้งแผงโซลาร์(Solar Rooftop) พื้นที่ 724 ตารางเมตร

    ผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ได้

    150 กิโลวัตต์ โดยประมาณ
  • โครงการเคฟ ทียู (Kave TU) ติดตั้งแผงโซลาร์ (Solar Rooftop) พื้นที่ 864 ตารางเมตร

    ผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ได้

    178 กิโลวัตต์ โดยประมาณ
  • โครงการเคฟ ทาวน์ ชิฟท์ (Kave Town Shift) ติดตั้งแผงโซลาร์ (Solar Rooftop) ขนาดพื้นที่ 969 ตารางเมตร

    ผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ได้

    150 กิโลวัตต์ โดยประมาณ

นอกจากนี้ ได้มีการติดตั้งไฟส่องสว่างที่ใช้พลังงานจากโซล่าเซลล์ในส่วนของทางเดินและสวนส่วนกลางของโครงการ ทดแทนการใช้พลังงานไฟฟ้า เนื่องจากมีโซล่าเซลล์นั้นมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าหลอดไฟฟ้า สามารถลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้า และลดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบสายไฟต่างๆ รวมไปถึงการบำรุงรักษาสายไฟ อีกทั้งยังเป็นระบบที่ใช้งานได้สะดวกสามารถเปิด-ปิดแบบอัตโนมัติได้ และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากไฟฟ้าลัดลงจรหรืออันตรายอื่นๆ ที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้าได้ด้วย

4. ส่งเสริมการใช้รถพลังงานไฟฟ้า เพื่อพลังงานที่สะอาด

บริษัทร่วมมือกับ “ฮ้อปคาร์” (Haupcar) ผู้ให้บริการคาร์แชร์ริ่งหรือบริการเช่ารถพลังงานไฟฟ้า เพื่อพลังงานที่สะอาด ในการเปิดจุดบริการเช่ารถยนต์ไฟฟ้า และสกูตเตอร์ไฟฟ้า รวมถึงสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า โดยผ่านแอปพลิเคชัน HAUP บนสมาร์ทโฟนได้ตลอด 24 ชั่วโมง ใช้กับลูกค้าในโครงการ Kave Town Space โครงการ Mingle Mall เพื่อเป็นทางเลือกการใช้รถที่ตอบรับไลฟ์สไตล์การเดินทางรูปแบบใหม่ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ บริษัทได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Station) เพื่อความสะดวกของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่พักอาศัยภายในโครงการของบริษัท และเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นพลังงานที่สะอาด ทดแทนการใช้พลังงานเชื้อเพลิง อันก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะดำเนินการติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Station) ในทุกโครงการของบริษัทที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป

การจัดการพลังงานภายในสำนักงานใหญ่

1. การลดการใช้พลังงานไฟฟ้า

ภายในสำนักงานใหญ่ได้ดำเนินการรณรงค์การประหยัดพลังงาน โดยผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ภายในองค์กรเพื่อสร้างจิตสำนึกให้แก่พนังงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการควบคุมการใช้พลังงานทั้งระบบไฟฟ้าส่องสว่าง และระบบปรับอากาศให้เป็นเวลาและเท่าที่จำเป็นในบางพื้นที่ของสำนักงาน การเปลี่ยนใช้หลอดไฟ LED ทั่วภายในสำนักงาน การกำหนดให้มีแผนงานการติดตั้งและบำรุงรักษาอุปกรณ์ควบคุมการทำงานของระบบไฟฟ้า เพื่อประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานอย่างสูงสุด

นอกจากนี้ บนด่านฟ้าที่อาคารสำนักงานใหญ่ ได้ดำเนินการติดตั้งแผงโซลาร์ (Solar Rooftop System) บนพื้นที่ 153.9 ตารางเมตร ขนาด 32 กิโลวัตต์ เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์สำหรับใช้ในพื้นที่สำนักงานทดแทนการใช้พลังงานไฟฟ้าปกติ

2. การลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง

ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด: EV Station

บริษัทดำเนินการติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Station) ที่สำนักงานใหญ่ เพื่อเพิ่มความสะดวกแก่พนักงานที่ใช้รถไฟฟ้า และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินการติดตั้งให้แก่พนักงาน จำนวน 2 จุด สามารถสั่งทำการชาร์จไฟฟ้าผ่านแอปพลิเคชันที่สามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง Google Play และ App Store

  • จุดที่ 1 สามารถเชื่อมต่อแอปพลิเคชัน “EV Station” โดยมีค่าบริการชาร์จไฟฟ้าแสดงบนหน้าจอแอปพลิเคชัน
  • จุดที่ 2 Juice box ev charger สามารถเชื่อมต่อแอปพลิเคชัน “One Charge” โดยไม่มีค่าบริการชาร์จไฟฟ้า

Carpool: ทางเดียวกันไปด้วยกัน

จากนโยบาย Growgreen ที่เป็นหลักคิดด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทที่ถือเป็นแนวปฏิบัติในทุกมิติของบริษัท โครงการ “ทางเดียวกัน ไปด้วยกัน” (Carpool) จึงเป็นเป็นโครงการที่จะช่วยลดการใช้พลังงานในภาพรวมได้ นอกจากนั้นยังเป็นสวัสดิการของพนักงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง จากการที่ที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในซอยจึงได้จัดรถรับส่งพนักงานในช่วงเช้า สำหรับพนักงานที่โดยสารรถสาธารณะ นอกจากนั้นยังมีการใช้ระบบ Application GPS Tracking สำหรับติดตามรถเพื่อ อำนวยความสะดวกในการบอกตำแหน่งรถรับส่งได้อีกด้วย

โครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2564 ได้ตั้งเป้าหมายเพื่อลดการใช้พลังงานน้ำมันและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวม โดยจะลดการใช้พลังงานน้ำมันในภาพรวม 100 ลิตร/ปี โดยในปี 2566 มีเส้นทางที่ให้บริการ 1 เส้นทาง คือ ปั๊ม ปตท. ก่อนถึงซอยพหลโยธิน 48 (ซ.สายหยุด) ปลายทาง Assetwise (ระยะทาง ไป-กลับ 4.9 Km)

ในปี 2566 มีผู้ใช้งานเฉลี่ย 7 คน/วัน ระยะเวลา 12 เดือน รวมระยะทางที่รถรับส่งใช้ไป 1,528.8 กิโลเมตร ใช้น้ำมันไปทั้งสิ้นจำนวน 138.98 ลิตร คิดเป็นอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3,430.34 kg.CO2e

น้ำมันในส่วนของผู้โดยสาร carpool ในกรณีหากไม่โดยสารรถ carpool รวม 5,350.8 กิโลเมตร จะใช้น้ำมันไปทั้งหมด 486.43 ลิตร (คำนวณกรณีนั่ง TAXI) อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 11,971.20 kg.CO2e

ดังนั้น โครงการ Carpool: ทางเดียวกันไปด้วยกันสามารถลดการใช้น้ำมันลง 347.45.8 ลิตร และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 8,540.86 kg.CO2e

การจัดการน้ำภายในโครงการก่อสร้างของกลุ่มบริษัท

การจัดการน้ำภายในโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ

บริษัทจัดการน้ำภายในโครงการโดยให้ความสำคัญกับการบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากการใช้น้ำภายในโครงการซึ่งต้องกำหนดให้มีค่า BODเป็นไปตามทีกฎหมายกำหนดก่อนระบายออกสู่ภายนอกโครงการ ซึ่งในแต่ละโครงการจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อรองรับน้ำเสียจากการใช้งานภายในโครงการได้อย่างเพียงพอกับปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้มีความชำนาญดูแลรักษาและควบคุมระบบบำบัดน้ำเสียของโครงการให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ พร้อมกำหนดแผนการดูแลบำรุงรักษา จัดให้มีการสูบสิ่งปฏิกูลและกากไขมันจากบ่อบำบัดน้ำเสียในทุกเดือน และตรวจสอบบ่อบำบัดน้ำเสียเพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถเดินระบบบำบัดน้ำเสียได้ตลอดระยะเวลาที่เปิดดำเนินโครงการ พร้อมจัดให้มีมาตรการรองรับกรณีที่บ่อบำบัดน้ำเสียล้มเหลวนอกจากนี้เพื่อรองรับกรณีการเกิดโรคระบาดจึงได้จัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียที่มีการฆ่าเชื้อโรคด้วยโอโซน รวมถึงได้มีการนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ประโยชน์ในการรดน้ำต้นไม้ภายในโครงการ

การจัดการน้ำภายในสำนักงานใหญ่

บริษัทบริหารจัดการการใช้น้ำภายในสำนักงานใหญ่ โดยการควบคุมการใช้น้ำ เลือกใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ การตรวจสอบอุปกรณ์ประปาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการรณรงค์การประหยัดน้ำแก่พนักงานเพื่อสร้างจิตสำนึกต่อพนักงานอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ ภายในองค์กร

โครงการศึกษาการนำน้ำจากเครื่องปรับอากาศมาใช้ประโยชน์ในการรดน้ำต้นไม้

AssetWise ได้เห็นความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและได้มีนโยบาย Grow Green เพื่อเป็นแกนหลักในการพัฒนาสินค้าและบริการของบริษัท การเพิ่มพื้นที่สีเขียวควบคู่ไปกับการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ นับว่าเป็นเรื่องท้าทายในการออกแบบโครงการ เพราะการที่มีต้นไม้ที่มาก จะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น ค่าน้ำประปาในการรดน้ำต้นไม้ เป็นต้น ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะศึกษาปริมาณและความเป็นไปได้ที่จะใช้น้ำจากเครื่องปรับอากาศให้เกิดประโยชน์โดยการนำน้ำมารดน้ำต้นไม้

โดยเบื้องต้นได้ทำการวิจัย ทดลอง โดยใช้พื้นที่ สำนักงานใหญ่ ของ บริษัท แอสเซทไวส์ เพื่อเก็บข้อมูล ซึ่งพื้นที่ สำนักงานใหญ่ แอสเซทไวส์ มีต้นไม้อยู่เป็นจำนวนมาก การทดลองนี้ ก็จะช่วยลดปริมาณ การใช้น้ำที่สำนักงานใหญ่ไปด้วย และองค์ความรู้ที่ได้ จะนำไปสู่ การประยุกต์ใช้กับโครงการต่างๆ ของบริษัทต่อไป

ผลการทดสอบ

จากการเก็บข้อมูลปริมาณน้ำ 1 ชั่วโมง จากเครือ่งปรับอากาศ 9000 BTU พบว่า มีปริมาณน้ำที่ไหลออกจากเครื่องปรับอากาศ 1,500 มิลลิลิตร/เครื่อง จึงสามารถอนุมานได้ว่าในเวลาทำการของบริษัท 8 ชั่วโมง จะมีปริมาณน้ำจากเครื่องปรับอากาศมากถึง 12,000 มิลลิลิตร หรือ 12 ลิตร ซึ่งเพียงพอที่จะนำไปรดน้ำต้นไม้ในระบบเชือกได้ (อ้างอิงผลจากการใช้น้ำด้วยระบบเชือก สามารถลดปริมาณการใช้น้ำได้ถึง 69.7%)

ดังนั้นหากนำน้ำจากเครื่องปรับอากาศมาใช้กับระบบรดน้ำด้วยเชือกหรือการให้น้ำต้นไม้ระบบอื่นๆ จะยิ่งเป็นการลดการใช้น้ำและใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดยิ่งขึ้นไปอีก โดยบริเวณที่ใช้ระบบนี้จะไม่มีค่าใช้จ่ายในการใช้น้ำรดน้ำต้นไม้เลย และในอนาคตบริษัทสามารถพัฒนาต่อยอดไปยังการออกแบบการนำน้ำจากเครื่องปรับอากาศมาใช้ในโครงการ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อลูกบ้านในด้านการลดค่าใช้จ่ายในการลดน้ำต้นไม้ และประโยชน์ต่อโลก ในการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

โครงการเพิ่มประสิทธิภาพ ในการรดน้ำต้นไม้ ด้วยระบบเชือก และ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดมลภาวะ และลดการใช้พลังงาน ตามนโยบาย Grow Green

การเพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นหนึ่งในนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม “Grow Green” ทำให้บรรยากาศโดยรวมร่มรื่น มีความสุข นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มออกซิเจน ลดมลภาวะต่างๆ แต่เมื่อมีต้นไม้ที่มาก จะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น การออกแบบระบบให้น้ำก็ต้องออกแบบให้เหมาะสม เพื่อความสะดวกในการให้น้ำ ความต้องการน้ำในการดูแลรักษาต้นไม้ จะมากขึ้น พนักงานดูแลต้นไม้ก็ต้องมากขึ้น ทางบริษัท จึงมีความสนใจในการ พัฒนาระบบการให้น้ำที่มีต้นทุนที่ต่ำ ดูแลรักษาระบบทำได้ง่าย มีประสิทธิภาพในการให้น้าสูง ทำให้การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทำไปได้พร้อมกับความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์

บริษัทจึงได้ทดลองวิจัย โดยใช้ระบบรดน้ำแบบเชือกในการให้น้ำแก่ต้นไม้ ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่สูญเสียน้ำส่วนเกิน และมีค่าใช้จ่ายในเดินระบบที่ต่ำ ใช้ได้กับทั้งต้นไม้ที่อยู่ภายนอกอาคาร และ ต้นไม้ที่อยู่ภายในอาคาร นอกจากนี้ ระบบการให้น้ำด้วยเชือก ยังประยุกต์ให้สามารถให้น้ำอย่างอัตโนมัติ ช่วยลดค่าจ้างคนในการให้น้ำต้นไม้ ซึ่งจะได้ประโยชนทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจในแง่ของค่าใช้จ่าย ในการจัดทำระบบรดน้ำต้นไม้ของบริษัท และโครงการ ในมิติด้านสังคมที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของนิติบุคคลของลูกบ้านในระยะยาว ทำให้การดูแลต้นไม้มีค่าใช้จ่ายที่ต่ำ และในมิติด้านสิ่งแวดล้อมที่จะลดการสูญเสียน้ำจากการรดน้ำต้นไม้ หรือ ทำให้ต้นไม้ตายจากการจัดการให้น้ำไม่เหมาะสม

ผลการทดสอบการเก็บข้อมูลปริมาณน้ำในปี 2566

จากการเก็บข้อมูลปริมาณการใช้น้ำเปรียบเทียบระหว่าง การรดน้ำแบบเดิมโดยใช้บัวรดน้ำ และ ระบบรดน้ำด้วยเชือก พบว่า ระบบรดน้ำด้วยเชือกประหยัดน้ำได้มากถึง 68.12% โดยเก็บข้อมูลจากแปลงผักสวนครัวรอบลานจอดรถบริเวณสำนักงานใหญ่ ความยาว 96 เมตร จำนวนผักสวนครัวทั้งหมด 66 ต้น ดังตาราง

รูปแบบการรดน้ำ ปริมาณน้ำที่ใช้ (ลิตร/วัน) เฉลี่ย (ลิตร/ต้น/วัน)
รดน้ำแบบทั่วไป (บัวรดน้ำ) 242.52 3.67
รดน้ำด้วยเชือก 76.92 1.17

การบริหารจัดการขยะ ของเสีย และมลพิษที่เกิดจากการก่อสร้างโครงการของกลุ่มบริษัท

การจัดการวัสดุก่อสร้างเพื่อลดการเกิดขยะจากการก่อสร้างโครงการ

บริษัทให้ความสำคัญต่อการจัดการวัสดุก่อสร้างในกระบวนการก่อสร้างของบริษัท โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบให้มีใช้วัสดุก่อสร้างอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงที่สุด ลดการสูญเสียวัสดุอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็นอันก่อให้เกิดขยะหรือของเสีย การใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ส่งเสริมการลดการเกิดขยะ การนำวัสดุเหลือใช้กลับมาหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์ใหม่อีกครั้ง รวมไปถึงการหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดขยะหรือของเสียที่เพิ่มมากขึ้น

1. การจัดรูปแบบปูพื้นกระเบื้องทางเดินห้องพักของโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการเกิดขยะ

โครงการก่อสร้างของบริษัทในปี 2566 ได้มีการจัดรูปแบบของการปูพื้นกระเบื้องทางเดินห้องพักภายในโครงการให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด โดยจะต้องลดการสูญเสียของกระเบื้องให้ได้มากที่สุด เพื่อช่วยลดการเกิดของขยะจากเศษกระเบื้องที่เหลือใช้จากการปูพื้นเมื่อเปรียบเทียบกับการปูพื้นในรูปแบบเดิม ตามหลักการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน (Waste Management) และช่วยลดปริมาณขยะจากการก่อสร้างโครงการของบริษัทลงได้ ทั้งนี้บริษัทมีแผนที่จะจัดรูปแบบของการปูพื้นกระเบื้องดังกล่าวในทุกโครงการของบริษัทในอนาคตต่อไป

2. เทคโนโลยี Texca Wall เพื่อจัดการของเสียในการก่อสร้าง

บริษัทได้ให้ความสำคัญในการจัดการเศษวัสดุที่เกิดจากการก่อสร้าง โดยได้นำเทคโนโลยี Texca Wall ที่เป็นผนังสำเร็จที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับการรับรองเป็นสินค้าฉลากเขียวเข้ามาใช้ในการก่อสร้างในส่วนของผนัง จุดเด่นของ Texca Wall คือ ลดเศษวัสดุจากการก่อสร้าง เนื่องจากออกแบบขนาดที่ต้องการใช้มาตั้งแต่ที่โรงงาน จึงทำให้เหลือเศษปูนที่เป็นของเสียเพียง 5% เมื่อเทียบกับการก่อฉาบแบบเดิมเกิดของเสียถึง 10-20% นอกจากนั้นบริษัทผู้ผลิตยังรับเศษวัสดุที่เหลือเกิดจากการก่อสร้างกลับไป recycle เพื่อนำมาทำผนังใหม่อีกด้วย

3. การใช้วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างที่ส่งเสริมการลดการเกิดขยะ

ในส่วนของพื้นทางเดินส่วนกลางของโครงการ บริษัทส่งเสริมการใช้วัสดุที่ลดการเกิดขยะ โดยได้เลือกใช้วัสดุปูพื้นทางเดิน หรือ บล็อกทางเท้า จากวัสดุ Upcycling โดยการนำขยะพลาสติกมาผลิตเป็นบล็อกทางเดิน เพื่อช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกและเป็นการเพิ่มมูลค่าแก่ขยะพลาสติก โดยมีกระบวนการผลิตที่ไม่ซับซ้อนสามารถทำได้ในระดับชุมชน ทั้งนี้บริษัทได้ทำการจัดซื้อจากวัสดุปูพื้นทางเดิน หรือ บล็อกทางเท้า จากโรงงานรีไซเคิลชุมชนที่ผลิตจากจากขยะถุงอาหารสัตว์เลี้ยงมาใช้สำหรับปูพื้นทางเดินในส่วนกลางของโครงการ ซึ่งสามารถช่วยกำจัดขยะพลาสติกได้ถึง 4.4 กิโลกรัม ต่อบล็อกทางเท้า 1 ตัว

การบริหารจัดการขยะ ของเสีย และมลพิษที่ภายในโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จของกลุ่มบริษัท

1. การจัดการมลพิษ

การจัดการฝุ่นละออง สำหรับโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จของบริษัท ได้มีการควบคุมของการเดินรถยนต์ภายในโครงการให้มีความเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่นบริเวณผิวถนน และจัดให้มีการทำความสะอาดถนนภายในโครงการทุกวัน ตลอดระยะเวลาการเปิดดำเนินการ นอกจากนี้ในห้องพักอาศัยทุกห้อง และพื้นที่ส่วนกลาง เช่น โถงสวนกลาง ห้องนิติบุคคล ห้องออกกำลังกาย เป็นต้น บริษัทได้ทำการติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่มีคุณสมบัติที่สามารถกรองฝุ่นละอองชนิดที่มีความละเอียดพิเศษ หรือ PM 2.5 ได้ เพื่อป้องกันมลภาวะขนาดเล็กที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพของผู้พักอาศัย และใช้พื้นไม้สำเร็จรูปในการปูพื้นห้องพัก ที่มีคุณสมบัติ

การจัดการมลพิษทางอากาศ โครงการจัดให้มีอาคารจอดรถที่มีลักษณะเปิดโล่ง ไม่ปิดทึบ มีลมพัดผ่านตลอดเวลา สามารถระบายอากาศได้อย่างสะดวก และดำเนินการติดตั้งป้ายห้ามติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้ขณะจอดรถในบริเวณพื้นที่จอดรถ เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมของมลพิษจากท่อไอเสียของรถยนต์ นอกจากนี้ยังได้มีการควบคุมควบความเร็วของรถยนต์ภายในโครงการ รวมถึงการจัดให้มีป้ายสัญลักษณ์จราจรให้ชัดเจนในโครงการ เพื่อทำให้เกิดการเคลื่อไหวตัวของรถภายในโครงการ และบริเวณทางเข้า-ออกโครงการมีประสิทธิภาพ ลดการเกิดมลภาวะที่เกิดจากการกระจุกตัวของรถในทางเดินรถและการเดินรถที่ไม่จำเป็น

นอกจากนี้ ภายในโครงการของบริษัทยังจัดให้มีพื้นที่สีเขียว โดยการปลูกต้นไม้ที่มีคุณสมบัติสามารถช่วยกรองฝุ่น หรือสามารถฟอกอากาศได้ ในพื้นที่รอบๆ โครงการ เพื่อให้ต้นไม้ดังกล่าวช่วยดูดซับฝุ่นละอองในอากาศ และ/หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ (CO2) ที่เกิดขึ้นภายในโครงการ

2. การจัดการขยะและของเสีย

สำหรับโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ กลุ่มบริษัทได้จัดให้มีห้องพักขยะประจำชั้นพักอาศัย โดยภายในห้องพักขยะจะจัดให้มีถังขยะแยกประเภทขยะ ได้แก่ ถังขยะเปียก (ขยะย่อยสลายได้) ถังขยะทั่วไป (ขยะแห้ง) ถังขยะรีไซเคิล ถังขยะอันตราย และถังขยะติดเชื้อ เพื่อให้ผู้พักอาศัยมีการการคัดแยกขยะให้ถูกประเภทก่อนทิ้ง โดยการจัดให้มีถังขยะที่แบ่งสีตามประเภทของขยะ รวมถึงจัดให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้พักอาศัยคัดแยกขยะ และนำกลับมาใช้ซ้ำได้ในขยะบางประเภท เช่น ถุงพลาสติกหรือถุงกระดาษสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดปริมาณขยะของโครงการ ทั้งนี้ในการจัดเก็บขยะในโครงการจะจัดการคัดแยกขยะแต่ละประเภทใส่ในแต่ละถุง พร้อมติดฉลากบอกประเภทของขยะก่อนขนย้ายเพื่อสำหรับนำไปทิ้งต่อไป

นอกจากนี้ ได้จัดให้มีการตรวจสอบถังขยะให้มีสภาพดีอยู่เสมอ หากพบว่ามีการผุกร่อนหรือชำรุดต้องดำเนินการแก้ไขทันที รวมทั้งมีการตรวจสอบปริมาณขยะที่อาจตกค้างบริเวณรอบถังขยะ และห้องพักขยะให้สะอาดอยู่เสมอ โดยทางผู้รับผิดชอบโครงการหรือนิติบุคคลจะต้องควบคุมให้มีการปฏิบัติตามมาตรการในการจัดการขยะที่ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

การจัดการขยะภายในสำนักงานใหญ่

1. Zero landfill station

โครงการที่ตอบสนองในแกน Waste Management ตามนโยบาย Grow Green ซึ่งในปี 2566 นี้ บริษัทมีเป้าหมายร่วมกัน ทังองค์กร ทีจะลดปริมาณขยะทั่วไปลง 20% เทียบกับปีฐาน ซึ่งเมือเราสามารถแยกขยะได้เพิ่มขึ้น ปริมาณขยะทั่วไปก็จะ ลดลงตามไปด้วย

โดยมีขั้นตอนการดำเนินงานดังนี้ :

1. รณรงค์ให้ความรู้พนักงานทุกคนเรื่องการคัดแยกขยะ และเส้นทางจัดการขยะแต่ละประเภท สร้างวัฒนธรรมองค์กรในการทิ้งขยะ

2. ตั้งจุดคัดแยกขยะ Zero Landil Station วิธีการคัดแยกขยะด้วย Concept "แยก-เท-คว่ำ"

  • แยกประเภทขยะตามป้าย
  • เทน้ำ น้ำแข็ง เศษอาหารลงในถัง/ภาชนะที่เตรียมไว้
  • คว่ำ ภาชนะ จาน ชาม แก้ว ไว้บนชั้นที่เตรียมไว้

3. นำส่งขยะที่ผ่านการคัดแยกไปส่งยังสถานที่จัดการแต่ละประเภท

จุดเด่นที่บริษัทได้พัฒนาขึ้นผ่าน Zero Landfill Station ด้วย Concept “แยก-เท-คว่ำ” นั้น ช่วยให้พนักงานสามารถแยกขยะได้โดยง่าย และมีประสิทธิภาพ ขยะที่แยกแล้วสามารถเก็บรวบรวม และนำส่งต่อได้ทันที

โดยจะมีป้ายสีที่ช่วยแยกขยะประเภทได้ง่ายขึ้น เมื่อนำขยะมาทิ้งให้สังเกตสัญลักษณ์ และสีพื้นหลังของป้าย สีพื้นหลังจะบอกประเภทขยะที่นำมาทิ้ง และปลายทางนำไปทำประโยชน์อะไรต่อได้ เช่น

ภาชนะที่มีน้ำ น้ำแข็ง หรือเศษอาหาร ให้เทน้ำ น้ำแข็ง หรือเศษอาหารทิ้งลงในถังที่เตรียมไว้ก่อน เพื่อป้องกันการเน่าเหม็น กลั้วน้ำเล็กน้อย เพื่อไม่ให้มีเศษอาหาร น้ำซอสต่าง ๆ หลงเหลืออยู่ จากนั้นคว่ำภาชนะไว้บนชั้นที่เตรียมไว้ เมื่อแห้งก็เก็บรวบรวมพร้อมส่งต่อไปทำประโยชน์

Zero Landfill Station ได้ดำเนินการทั้งที่สำนักงานใหญ่ และปรับใช้ในงาน Event ต่าง ๆ ของบริษัท โดยสำนักงานใหญ่ ในปี 2566 สามารถรวบรวมขยะได้ 3,960 กิโลกรัม แบ่งเป็นขยะทั่วไป 1,182 กิโลกรัม ขยะอันตราย 30 กิโลกรัม ขยะรีไซเคิล 1,886 กิโลกรัม ขยะพลังงาน 562 กิโลกรัม เศษอาหาร 300 กิโลกรัม ช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ 7,259 kgCo2e ซึ่งเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 807 ต้น โดยบริษัทตั้งเป้าลดขยะทั่วไปลง 20% จากปีฐาน สรุปผลการดำเนินงานปี 2566 ขยะทั่วไปลดลงจากปีฐาน 32.05%

และงาน Event ต่างๆ ที่บริษัทจัดขึ้นสามารถรวบรวมขยะ และนำส่งกำจัดอย่างถูกวิธีได้ 284 กิโลกรัม ช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ถึง 665 kgCo2e ซึ่งเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 74 ต้น

จากกิจกรรมทั้งหมดที่บริษัทดำเนินการเพื่อช่วยลดภาวะโลกเดือดนั้น ในปี 2566 บริษัทสามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ 26,369 kgCo2e ซึ่งเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 2,930 ต้น เพิ่มขึ้น 111% เมื่อเทียบกับปี 2565

2. ขยะอันตราย

ขยะอันตรายเป็นขยะอีกหนึ่งประเภทที่บริษัทให้ความสำคัญ โดยเข้าร่วมโครงการของกรมควบคุมมลพิษ เข้าร่วมเป็นสมาชิก “ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการเก็บรวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เห็นความอันตรายที่ร้ายแรงของขยะประเภทนี้ สร้างความตระหนักรู้เพื่อให้ช่วยกันแยกโดยไม่ทิ้งรวมกับขยะประเภทอื่น ๆ บริษัทจัดตั้งสถานที่รับขยะอันตราย (หลอดไฟ ถ่ายไฟฉาย กระป๋องสเปรย์ มือถือ และอุปกรณ์ต่อพ่วง) รวม 4 จุด คือ สำนักงานใหญ่ ศูนย์การค้า Mingle mall สำนักงานขาย Atmoz Flow มีนบุรี และสำนักงานขาย Atmoz season ลาดกระบัง

ในปี 2566 บริษัทได้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำกิจกรรมทิ้งขยะอันตรายให้มีความสนุกขึ้น โดยสามารถบันทึกข้อมูลผ่าน Line OA : aswgrowgreen และได้ Grow Green Point ซึ่ง Point สามารถนำไปแลกเป็นโดนัทไว้รับประทาน หรือเก็บสะสม Point ไว้แลกเป็นของที่ระลึกอื่น ๆ จากกกิจกรรมบริษัทสามารถรวบรวมขยะอันตรายได้ 30 กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 3% จากปี 2565

3. Refill station

Refill Station เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ ซึ่งจัดอย่างต่อเนื่องในทุกไตรมาส เป็นการส่งเสริมการลดการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อหวังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของพนักงาน โดยให้นำขวดมาเติมน้ำยาต่าง ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาซักผ้า และน้ำยาล้างมือ

นอกจากสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับพนักงานแล้ว บริษัทยังได้ขยายกิจกรรม Refill Station ออกไปสู่ภายนอกด้วย เช่น กิจกรรม “Mingle Green Day” @ศูนย์การค้า Mingle mall และงานจตุจักร ไนท์ วอล์กกิ้ง สตรีท @เลียบคลองบางเขน

ซึ่งในปี 2566 ปริมาณน้ำยาที่ใช้ทำกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 740,000 มิลลิลิตร เทียบเท่ากับการลดการใช้ขวดพลาสติกขนาด 500 มิลลิลิตร จำนวน 1,480 ขวด

การบริหารจัดการเพื่อลดปัญหาก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการก่อสร้างโครงการของกลุ่มบริษัท

การจัดการเพื่อลดปัญหาก๊าซเรือนกระจกภายในโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ

ผลกระทบด้านคุณภาพอากาศที่ก่อให้เกิดปัญหาก๊าซเรือนกระจก ส่วนใหญ่เกิดจากการจารจรภายในโครงการ โดยเฉพาะที่จอดรถและทางวิ่งภายในโครงการซึ่งเกิดจากท่อไอเสียของรถยนต์ ได้แก่ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซต์ (NO2) สารประกอบไฮโดรคาร์บอน (HC) และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซต์ (CO) ทั้งนี้ ทางโครงการจะต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยการจัดให้พื้นที่จอดรถมีลักษณะที่เปิดโล่ง ไม่ปิดทึบ มีลมพัดผ่านตลอดเวลา สามารถระบายอากาศได้อย่างสะดวกเพื่อไม่ให้เกิดการสะสมของมลพิษ รณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ผู้พักอาศัยในโครงการไม่ติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้ภายในบริเวณที่จอดรถ ควบคุมความเร็วของรถภายในโครงการให้ไม่เกิน 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจัดให้มีป้ายและสัญลักษณ์จราจรบนพื้นทางให้ชัดเจน เพื่อให้การเคลื่อนตัวของรถภายในโครงการ และบริเวณทางเข้า-ออกโครงการมีประสิทธิภาพลดการเดินลดที่ไม่จำเป็น นอกจากนี้ได้จัดให้มีพื้นที่สีเขียวภายในโครงการ โดยการปลูกต้นไม้ที่มีคุณสมบัติดูดซับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซต์ (CO) ในพื้นที่รอบๆ โครงการ เพื่อให้ต้นไม้สามารถช่วยดูดซับมลพิษที่เกิดภายในโครงการ

การจัดการเพื่อลดปัญหาก๊าซเรือนกระจกภายในสำนักงานใหญ่

1. ประเมิน carbon footprint (สำนักงานใหญ่)

บริษัทตระหนักและให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาภาวะโลกเดือด จึงได้รวบรวมข้อมูลกิจกรรมทั้งหมดของสำนักงานใหญ่ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรง ทางอ้อม และทางอ้อมอื่นๆ โดยทำการประเมินแบบภาคสมัครใจ และคำนวณออกมาในรูปตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เพื่อนำข้อมูลมากำหนดแนวทางบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

carbon footprint

โดยกำหนดขอบเขตการในการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจก ดังนี้

  • ขอบเขตที่ 1:

    การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงจากแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งองค์กรเป็นตัวเจ้าของหรือควบคุมการดำเนินงานโดยองค์กร

  • ขอบเขตที่ 2:

    การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้า

  • ขอบเขตที่ 3:

    การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ

ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

1,110 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด

1,408

ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ซึ่งในปี 2566 บริษัทมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 1,408 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง (ขอบเขตที่ 1) 226 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม (ขอบเขตที่ 2) 313 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ (ขอบเขตที่ 3) 869ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

บริษัทมีมาตรการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ เช่น รณรงค์ประหยัดน้ำเปิดใช้เท่าที่จำเป็น รณรงค์ดื่มน้ำจากเครื่องกรองน้ำเพื่อลดขยะขวดพลาสติก แยกขยะทุกประเภท และนำส่งไปใช้ประโยชน์ต่อ (Zero Waste to Landfill) รณรงค์ให้ปรับแอร์เป็น 25 องศาเซลเซียส ปิดไฟ 1 ชั่วโมงช่วงพักกลางวัน และปิดไฟทุกครั้งเมื่อไม่มีใครอยู่ในห้อง รวมถึงพื้นที่ส่วนกลางภายในสำนักงานใหญ่บางส่วนใช้ไฟจากพลังงานโซล่าเซลล์ เป็นต้น นอกจากนั้นในส่วนของการออกแบบอาคารยังมีการปลูกต้นไม้คลุมอาคาร และออกแบบอาคารให้มี Façade เพื่อป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวอาคารเป็นการลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศได้อีกด้วย

2. โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก LESS (Low Emission Support Scheme)

บริษัทให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยใช้กิจกรรมคัดแยกขยะเพื่อการรีไซเคิล เป็นกิจกรรมที่ยื่นขอการรับรอง โดยมีขั้นตอนการดำเนินกิจกรรมดังนี้

  1. รณรงค์ให้ความรู้พนักงานเรื่องการคัดแยกขยะ และเส้นทางจัดการขยะ
  2. ตั้ง Zero Landfill Station ตามชั้นต่าง ๆ ของอาคาร เพื่อให้ง่ายต่อการคัดแยกขยะทุกประเภท
  3. แม่บ้านเก็บรวบรวมขยะรีไซเคิลทุกวัน และนำไปเก็บไว้ในห้องที่เตรียมไว้ เมื่อมีปริมาณขยะรีไซเคิลมากพอ จะเรียกรถมารับ ชั่งน้ำหนัก บันทึกข้อมูลก่อนขาย และนำส่งขยะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล
  4. เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ จดบันทึกน้ำหนักขยะรีไซเคิล และเก็บใบเสร็จซื้อขายไว้เป็นหลักฐาน
  5. จัดทำรายงาน เพื่อส่งขอการรับรองกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก หรือ LESS

ซึ่งในปี 2566 บริษัทได้ยื่นขอการรับรอง และได้รับใบประกาศเกียรติคุณ รวม 3 กิจกรรม ได้แก่

  1. กิจกรรมคัดแยกขยะเพื่อการรีไซเคิล ที่สำนักงานใหญ่ ช่วงเวลาที่ขอการรับรอง (1 ม.ค. - 14 มิ.ย. 66) สามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้823 tCo2e ซึ่งเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 314 ต้น
  2. กิจกรรมคัดแยกขยะเพื่อการรีไซเคิล ที่ศูนย์การค้า Mingle mall ช่วงเวลาที่ขอการรับรอง (1 มี.ค. - 31 ก.ค.66) สามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 155 tCo2e ซึ่งเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 462 ต้น
  3. กิจกรรมคัดแยกขยะเพื่อการรีไซเคิล ที่สำนักงานขาย Atmoz Flow มีนบุรี ช่วงเวลาที่ขอการรับรอง (1 ม.ค. – 31 ก.ค. 66) สามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ 57 kgCO2e ซึ่งเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 6 ต้น

3. บริษัทเข้าเป็นสมาชิกโครงการด้านสิ่งแวดล้อมของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ครบทั้ง 3 Care

1. Care the Bear

บริษัทได้เข้าร่วมโครงการ “Care the Bear” ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งโครงการที่บริษัทมีส่วนช่วยการขับเคลื่อนการลดภาวะโลกเดือด โดยกิจกรรมที่บริษัทจัดขึ้นทั้งออนไลน์ และออฟไลน์จะคำนึงถึงหลักการ 6 Cares ได้แก่

  1. รณรงค์ให้เดินทางโดยรถสาธารณะหรือเดินทางมาร่วมกัน
  2. ลดการใช้กระดาษ พลาสติก จากเอกสารต่าง ๆ และบรรจุภัณฑ์
  3. งดการใช้โฟมจากบรรจุภัณฑ์หรือโฟมเพื่อการตกแต่ง
  4. ลดการใช้พลังงานจากอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน
  5. ออกแบบโดยใช้วัสดุตกแต่งที่สามารถกลับมาใช้ใหม่ได้
  6. ลดขยะจากอาหารเหลือทิ้งในงานอีเว้นท์

ในปี 2566 มีกิจกรรมที่บันทึกข้อมูลผ่านโครงการ Care the Bear ทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์ จำนวน 13 กิจกรรม 1 โครงการ เช่น กิจกรรมบริจาคโลหิต กิจกรรมเพาะต้นไม้ในโครงการ Plant for the Planet ปลูกเพิ่มเพื่อลดอุณหภูมิ ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 โครงการปันรักผ่านอักษรเบรลล์ #ปี2 เป็นต้น ซึ่งสามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ 9,473 kgCo2e ซึ่งเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 1,053 ต้น ซึ่งเพิ่มขึ้น 120% จากปี 2565

ผลรวมการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก และเทียบเท่าการปลูกต้นไม้

ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก

9,473 kgCo2e

เทียบเท่าการปลูกต้นไม้

1,053 trees

2. Care the Whale

บริษัทเข้าร่วมโครงการ “Care the Whale” ด้วยแนวคิดที่ตรงกันคือ “ขยะล่องหน” กำจัดคำว่าขยะให้หายไป ร่วมกันหาทางใช้ให้ถึงที่สุด ซึ่งตรงกับแนวคิดของบริษัทในแกน Waste Management นโยบาย GrowGreen ที่จัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง กำจัดขยะให้มีทางไปที่ถูกต้อง โดยมีเป้าหมายร่วมกันในเรื่อง Zero Waste to Landfill โดยบริษัทได้ใช้แพลตฟอร์ม Care the Whale ในการบันทึกปริมาณขยะประเภทต่าง ๆ

จากการดำเนินโครงการ Care the Whale ที่ต่อเนื่องนั้น บริษัทเป็นหนึ่งใน 29 องค์กรที่ดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง และต่อเนื่องผ่านโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme) หรือ LESS ได้รับใบประกาศเกียรติคุณจากงาน Climate Care Forum (Time to Reduce ลด-เพื่อ-โลก)

3. Care the Wild

โครงการ Care The Wild กิจกรรม ปลูกป้อง Plant & Protect เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เป็นความร่วมมือในการปลูกป่าใหม่ ปลูกป่าเสริม และส่งเสริมการดูแลป่าโดยผ่านภาคีเครือข่ายการปลูกป่า ต้นไม้ที่ปลูกจะเติบโตขึ้นอย่างสมบูรณ์ มีอัตราการรอด 100% สร้างระบบนิเวศที่สมดุล และเป็นการขยายผืนป่าอย่างเป็นรูปธรรม ประชาชนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากป่าได้ และร่วมลดปัญหาภาวะโลกเดือดตั้งแต่ต้นทาง

บริษัทได้สนุนกิจกรรม ปลูกป้อง Plant &Protect อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยตลอดทั้งโครงการบริษัทสนับสนุนการปลูกต้นไม้จำนวน 4,000 ต้น รวม 20 ไร่ ณ พื้นที่ป่าชุมชนบ้านหลังเขา อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี ซึ่งต่อปีช่วยดูดซับคาร์บอนได้ถึง 36,000 kgCo2e

การเพิ่มพื้นที่สีเขียว

1. โครงการ Plant for the Planet

ในการดำเนินธุรกิจจะมีการปล่อย CO2 ในกระบวนการต่างๆ ของกิจกรรมทางธุรกิจ ดังนั้นเพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อโลกและสรรพชีวิต การจัดกิจกรรมรณรงค์ให้พนักงานของ บมจ.แอสเซทไวส์ และพันธมิตร ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับ CO2 จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญให้เกิดความตระหนัก เพื่อนำสู่การลด CO2 ในอนาตต ทั้งกิจกรรมส่วนตัวและในทางธุรกิจ จึงได้เกิดเป็นโครงการ “ Plant for the Planet ” ปลูกเพิ่มเพื่อลดอุณหภูมิ ภาระกิจกู้โลก ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยเชิญชวน ให้มีเป้าหมายในการปลูกต้นไม้ 433 ต้น/คน* เพื่อชดเชยกับ CO2 ที่แต่ละคนทำให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เป็นการช่วยยับยั้งให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศา

*หมายเหตุ: *คนไทยเฉลี่ยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3,900 กก/ปี, ต้นไม้(อายุ10ปี) ดูดซับ CO2 9 กก/ปี

โดยโครงการ “ Plant for the Planet ” นี้ สอดคล้องกับแกนหลักของนโยบาย Grow Green คือ Green Space และ Clean Air ของบริษัท และโครงการ Green Bangkok 2030 ของ กรุงเทพมหานครอีกด้วย

วัตถุประสงค์:

  1. เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่าง บมจ.แอสเซทไวส์ และพันธมิตรในการตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและช่วยลด CO2 ผ่านกิจกรรมการปลูกต้นไม้ของพนักงาน
  2. เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย 433 ต้น/คน

ในปี 2566 ได้ดำเนินการเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายใต้โครงการ Plant for the Planet ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด รวม 10 พื้นที่ จำนวน 4,265 ต้น คิดเป็นการดูดซับคาร์บอนได้ถึง 38,385 kgCo2e

2. เพาะต้นกล้า…พาโลกรอด และศูนย์เพาะต้นกล้า

ต่อเนื่องจากโครงการ Plant for the Planet ทางบริษัทได้มีโครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 นี้ได้มีการเตรียมต้นกล้าเพื่อพร้อมปลูกในปี 2567 จึงได้ร่วมกับสำนักงานเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร และกรมป่าไม้ เกิดเป็นโครงการเพาะกล้า...พาโลกรอด โดยมีความร่วมมือกับโรงเรียนในเขตประเวศ จำนวน 5 โรงเรียน เพื่อเพาะเมล็ดพันธ์ และดูแลต้นกล้า เพื่อพร้อมปลุกในปี 2567

นอกจากนั้นยังมีความร่วมมืออย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 กับสวนกีฬารามอินทรา สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร โดยการทำศูนย์เพาะต้นกล้าเพื่อเตรียมต้นกล้าสำหรับปี 2567 โดยการเพาะเมล็ดต้นไม้ป่าที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมป่าไม้ กว่า 20 สายพันธุ์ เช่น พยุง ไม้แดง มะค่าแต้ ประดู่ โมกมัน เป็นต้น

3. นวัตกรรมในการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

บริษัทมุ่งมั่นในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับทุกคน จึงได้มีการพัฒนา Line Official ที่ชื่อว่า ASWGrowGreen เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างประสบการณ์และบันทึกข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม โดยจะมีการคำนวณการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์เบื้องต้นให้อีกด้วย ปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่เรื่องของการเพิ่มพื้นที่สีเขียว/การปลูกต้นไม้ และการจัดการขยะ

Plant for the Planet: เป็นฟังก์ชั่นในการบันทึกเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ โดยเริ่มตั้งแต่ การเพาะเมล็ด การดูแลต้นกล้า การปลูกต้นไม้ และการติดตามต้นไม้ โดยจะสามารถบันทึกรายละเอียดในแต่ละขั้นตอนได้

Zero Landfill: เป็นฟังก์ชั่นในการบันทึกเกี่ยวกับการจัดการด้านขยะ โดยจำแนกเป็น วัสดุรีไซเคิล วัสดุส่งไปทำประโยชน์(ขยะกำพร้า) วัสดุอันตราย และเศษอาหาร

ลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ

แอสเซทไวส์ มีความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยมลพิษทางอากาศออกสู่บรรยากาศ โดยตั้งเป้าลดการปล่อยมลพิษทางอากาศจากการก่อสร้างโครงการ

ปล่อยมลพิษทางอากาศลดลงอีก 20% จากค่ามาตรฐาน

ตัวอย่าง โครงการ KAVE UNI.VERSE BANGSAEN

จุดตรวจวัดที่ 1 บริเวณพื้นที่โครงการ KAVE UNI.VERSE BANGSAEN (เคฟ ยูนิ. เวิร์ส บางแสน)

ลำดับ ประเภท ค่ามาตรฐาน ผลการตรวจวัด เปอร์เซ็นที่ปล่อยต่ำกว่าค่ามาตรฐาน
1 ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 100 ไมครอน (TSP) ≤0.33 (24hrs.) 0.071 78.48
2 ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM-10) ≤0.12 (24hrs.) 0.0059 95.08
3 ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซต์ (CO) ≤34.2 (1hrs.) 2.01 94.12
4 สารประกอบไฮโดรคาร์บอน (THC) ยังไม่มีค่ามาตรฐาน 1.31 N/A
5 ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ≤0.32 (1hrs.) <0.904 70.63
6 ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ≤0.30 (24hrs.) 0.011 96.33

หมายเหตุ : ผลการตรวจวัดวันที่ 17 - 18 กรกฎาคม 2566